กฎหมายคู่ชีวิต ‘LGBTQ+’ ฝันที่มาไกล แต่ไปไม่เคยถึงฝั่ง

GenDHL

15

0

กฎหมายคู่ชีวิต ‘LGBTQ+’ ฝันที่มาไกล แต่ไปไม่เคยถึงฝั่ง

พรภัสสร

 เขียนโดย: พรภัสสร สุขะวัฒนะ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด

"...หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะตั้งคำถามว่า สังคมที่อุดมไปด้วยประชาธิปไตย ที่มีการเรียกร้องรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมได้ในทุกเรื่อง แต่การยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศผ่านตัวบทกฎหมาย เพื่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การยอมรับเพียงลมปาก กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าผ่านร่างกฎหมายกัญชง-กัญชา..."

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง 'ทัศนคติและการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฯ ในสังคมไทย' ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

 

พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการสร้างครอบครัว หรือการอยู่ร่วมกันในสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหลากหลายทางเพศของบุคคลมีให้เห็นมาช้านานนับร้อยนับพันปี ตราบเท่าที่มนุษย์จะสามารถบันทึกเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ไว้ได้ ในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพียงแต่ในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ หรือไม่รู้สังคมจะนิยามความหลากหลายอย่างไร ในเมื่อกติกาตัดสินให้มองเพียงภาพลักษณ์ทางกายภาพเป็นสำคัญ

 

แต่เมื่อความเจริญเริ่มมากขึ้น ความเข้าใจต่อสิทธิในชีวิตและความต้องการของตนเองมีมากตาม การยอมรับความเป็น “บุคคล” ของกันและกันมากขึ้น สังคมก็เริ่มให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่มีความหลากหลาย ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่เพียงอัตลักษณ์โดยกายภาพของบุคคล โดยเมื่อมองเข้ามาในภาพของสังคมไทยนั้น ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างความเข้าใจตลอดจนการรณรงค์ และแม้กระทั่งเรียกร้องให้คนทุกผู้ในสังคมได้ตระหนัก และเข้าใจถึง 'สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ' ในภาพของสังคมแบบความหลากหลายทางเพศ

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพความเท่าเทียมกันด้านเพศ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งในภาคการเมือง มีความพยายามนำมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงในหลาย ๆ พรรคการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่) เรื่องนี้ ที่เห็นเด่นชัดครั้งแรกประมาณช่วงปีพ.ศ. 2555 และในสังคมประเทศไทย ก็มีการพยายามเคลื่อนไหวผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง ในเวลาไล่เลี่ยกับในต่างประเทศที่มีการเรียกร้อง และทยอยผ่านกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันต่อเนื่องเรื่อยมา ในขณะที่ประเทศไทย ยังเป็นเพียงการรณรงค์เรียกร้องเท่านั้น

 

จนล่วงเลยมาถึง ปีพ.ศ. 2562 มีการหยิบยกมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงหลักอีกครั้งในหลาย ๆ พรรคการเมือง ประกอบกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่มีการหยิบมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็มีการผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตเข้าสู่สภาและผ่านรับหลักการได้ถึง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคู่ ชีวิตฯ ของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของรัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล

 

กรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนราษฎรจากพรรคน้อยใหญ่ หลายฝักหลายฝ่าย แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้พิจารณาผนวกรวมข้อดีของทั้ง 4 ฉบับ จนกลายเป็นกฎหมายสมรสที่ดี ที่สุดเพียง 2 ฉบับ สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศรวมทั้งบุคคลทุกเพศในสังคมที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ เป็นการสร้างบรรทัดฐานของความเท่าเทียมที่แท้จริง โดยกฎหมายทั้งสองฉบับประกอบไปด้วย ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ และ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งทั้งสองฉบับล้วนมีส่วนสัมพันธ์กัน

 

แต่สุดท้าย กฎหมายก็ไปไม่ถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อถึงวาระปิดสมัยประชุม ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ กฎหมายที่ถูกค้างเติ่งรอบรรจุวาระพิจารณา ก็ต้องถูกย่อยสลายกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง!

พรภัสสร 3

หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะตั้งคำถามว่า สังคมที่อุดมไปด้วยประชาธิปไตย ที่มีการเรียกร้องรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมได้ในทุกเรื่อง แต่การยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศผ่านตัวบทกฎหมาย เพื่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การยอมรับเพียงลมปาก กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าผ่านร่างกฎหมายกัญชง-กัญชา

 

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจทำให้ภาครัฐ ไม่สามารถขับเคลื่อนให้กฎหมายเกิดขึ้นได้จริง แต่เลี่ยงไปใช้การจดทะเบียนคู่ชีวิต เพราะปัญหาจากการนับถือศาสนา เนื่องจากในสังคมไทยเกิดเสรีในการนำถือศาสนาและในบางศาสนายังไม่ให้การยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ยังคงมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ และขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนาของตนเอง ในขณะที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเองก็ดี หรือประชาชนทั่วไปบางส่วน ยังไม่เข้าใจและไม่สามารถเห็นถึงความแตกต่างเชิงลึกระหว่าง คำว่า สมรสเท่าเทียม กับ จดทะเบียนคู่ชีวิต ที่ในบทบัญญัติทางกฎหมายมีความแตกต่างกันและส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้ เพราะกฎหมายดั้งเดิมที่มีกำหนดให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นทายาทหรือคู่สมรสตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีนี้ คู่สมรสตามกฎหมาย คือชายและหญิงที่ยินยอมเป็นสามีภริยากันและจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา มีพลังอันน้อยนิดของสังคมที่จะพยายามผลักดันกฎหมายเหล่านี้ เพราะหลายต่อหลายครั้งเราก็จะเห็นกลุ่มคนในสังคมเองก็ดี ยังไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกฎหมายคู่ชีวิตที่มีต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศดีพอ ยังไม่ได้เข้าใจว่ากฎหมายคู่ชีวิต ไม่ใช่เพียงการต้องการแต่งงานของLGBTQ+ แต่เป็นรับรองสิทธิอันชอบธรรมของคู่ชีวิตตามกฎหมาย เหมือนที่ชาย – หญิง ทั่วไป พึงมีสิทธิ

 

ด้านสื่อมวลชนเองก็ดี ในฐานะที่เป็นผู้นำสาร เป็นเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณการรับรู้ข้อมูล ก็ควรที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดี ในข้อเท็จจริงต่อสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในทุก ๆ มิติ

 

สื่อมวลชน ควรเลิกใช้ความหลากหลายทางเพศให้เป็นแค่เครื่องมือในการสร้างความนิยม และไม่ควรนำเสนอข่าวสารด้วยการยกอัตลักษณ์ทางเพศขึ้นมาเป็นตัวตั้ง อันนำไปสู่การบูลลี่ (Bully) ทางเพศ และทำให้สังคมมองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นคนแปลกแยกและน่ากลัว ควรหันมาให้ความรู้ผ่านเนื้อหาบทความ รายงานเพื่อส่งเสริมให้สังคมเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่จริงในสังคมและไม่ควรนำเพศมาเป็นตัวชี้นำการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำที่ผิด ๆ ต่อสังคม ยิ่งทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศถูกมองว่าแปลกแยก และยิ่งทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ของกฎหมายคู่ชีวิต ริบหรี่ลงไปในที่สุด

 

นอกจากนั้น ในแง่มุมของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ หรือกฎหมายที่รองรับการสร้างครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ สื่อมวลชนควรให้น้ำหนักในการติดตามความเคลื่อนไหวและนำเสนอข้อมูลข่าวให้มากกว่าเดิม อย่ารอเพียงเพื่อสร้างสถานการณ์ความคิดเห็นขัดแย้งรุนแรงทางเมืองหรือสังคมออนไลน์ และควรให้ข้อมูลเชิงความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้บุคคลสร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้โดยปราศจากข้อแม้ การให้ข้อมูลสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละมาตราว่ามีประโยชน์ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างไร

 

สุดท้าย ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีแนวนโยบายเรื่องกฎหมายรับรองคู่สมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศออกมารูปแบบไหน สิ่งที่เราควรทำตั้งแต่ตอนนี้คือสร้างความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกฎหมายต่อคนในสังคมเพื่อให้กลายเป็นพลังมหาศาลยิ่งขึ้นในการร่วมผลักดันตัวบทกฎหมายต่อไป

 

https://www.isra.or.th/site_content/item/1076-isra-8.html

ความคิดเห็น

กลับ

เลขที่ 88 ถนนติวานนท์ 3 (แยก 16) ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

02 968 8019

02 968 9885

คุยกับ Gen AI