เมื่อเกิด Cyberbully เด็กไทยไม่กล้าบอกพ่อแม่? เข้าใจปัญหา Cyberbully ผ่านคนสองวัย

GenDHL

18

0

ไม่ใช่แค่การถูกตั้งโจทย์ให้ว่าต้องมีผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยมสม่ำเสมอ แต่ยังต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมรอบข้างหรือครอบครัว ยังไม่นับเด็กไทยจำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่

 

ในแง่หนึ่ง อินเทอร์เน็ต อาจเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ช่วยให้เด็กหลายคนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง หรือได้ผ่อนคลายจากภาระต่างๆ ที่พวกเขาต้องแบกเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ยังคงมีด้านมืดที่น่าเป็นกังวลด้วยเช่นกัน

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์’ หรือ ‘Cyberbully’

การศึกษาโครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา สำรวจโดย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เมื่อปี 2561 พบลักษณะสำคัญของการกลั่นแกล้งกันว่า การถูกกลั่นแกล้งและการกลั่นแกล้ง มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ หรืออธิบายอีกทางหนึ่งคือ เมื่อเกิดการกลั่นแกล้ง มักมีการอยากกลั่นแกล้งกลับเพื่อล้างแค้นและเอาคืน

ข้อมูลนี้กำลังบอกอะไรกับเรา? นี่อาจแปลว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมเรากำลังมีประสบการณ์อยู่ท่ามกลางการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ แถมยังดูเหมือนว่า มันจะกลายเป็นวงจรของการกลั่นแกล้ง และแก้แค้นเพื่อเอาคืนกันอย่างไม่รู้จบ

The MATTER จึงชวนคนสองเจนเนอเรชั่น คนแรกคือ ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา นักเรียนวัยมัธยม ที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตของเด็กไทย กับ แหม่ม-วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย แม่ผู้เข้าใจคนรุ่นใหม่และเลี้ยงลูกไม่เหมือนใคร มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันและกัน

เมื่อภาพปัญหาเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะออกจากวงจรที่ว่านี้ได้อย่างไร? สถาบันทางสังคมที่เป็นหน่วยย่อยและสำคัญที่สุดสำหรับเด็กนักเรียนอย่างครบอครัวนั้น จะมีส่วนช่วยเหลือได้แค่ไหนบ้าง?

 

ปัญหา Cyberbully ในบริบทชีวิตที่เปราะบางของคนหนุ่มสาว

The MATTER : เห็นว่า ญาเคยเจอเคสเรื่อง Cyberbully มาในหมู่ของเด็กนักเรียน

ปราชญา : เคยเจอเคสๆ หนึ่งค่ะ เป็นเคสของเด็กประถมปลายที่ถูกเด็กด้วยกันทำร้ายร่างกาย แล้วโดนอัดคลิปลงในเฟซบุ๊กของเด็กคนนั้นเอาไว้ หลังจากนั้นเด็กที่ถูกทำร้าย เขาเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของเขาก็พยายามซัพพอร์ตดูแลมาโดยตลอด

หลังจากนั้น พอเขาขึ้นไปเข้าโรงเรียนในช่วงของ ม.1 ต่อ ด้วยอาการที่เขาเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เขาเหม่อลอย บางครั้งอาจจะไม่ค่อยตั้งใจเรียน ทำให้คุณครูมองว่าเด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียนเลย และไปเล่าให้เด็ก เพื่อนห้องอื่นๆ ฟังว่าเด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียน เหม่อลอยทั้งวันเลยแบบนี้เรียนเกรดไม่ได้ดีแน่นอน

พอครูพูดอย่างนี้ค่ะมันเหมือนจุดเพลิง แล้วเด็กที่ได้ฟังๆ มาอย่างนี้ค่ะ ห้องไหน คนนี้หรือเปล่า ชื่อ A ใช่ไหมค่ะ หลังจากนั้นเขาโดน Bully ในโรงเรียน 

วีรพร : ด้วยเรื่องเก่า

ปราชญา : ใช่ค่ะ แล้วมีวันหนึ่ง มีคนที่เป็นเพื่อนกับเด็กคนนี้ เอาคลิปที่ถูกถ่ายไว้ไปเปิดต่อให้เพื่อนๆ ดู ค่ะ หลังจากนั้น เด็กคนนี้ก็ไปปรึกษาพ่อแม่แล้วว่าหนูเจอแบบนี้ หนูควรจะทำยังไงดี พ่อแม่ก็ตัดสินใจให้ลาออกจากโรงเรียนนั้นออกมา

แต่ปัญหาของการ Cyberbully ที่มันแตกต่างจาก Bully ธรรมดา คือพอออกมาจากโรงเรียนแล้ว ต้องพบเจอกับ Cyberbully ด้วยการที่เด็กคนที่มา Bully เราในโรงเรียนนี้ค่ะ สร้างแอคเคาท์เฟซบุ๊กออกมาประมาณ 10 แอคเคาท์ เพื่อที่จะโพสต์คลิปนี้ลง แล้วก็รุนแรงถึงขึ้น คือโหลดรูปศพมาจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ตัดต่อหน้าเด็กคนนี้ใส่เข้าไปในเฟซบุ๊ก 

อันนี้ก็เป็นเคสๆ หนึ่งที่รู้สึกว่าปัญหาของการ Cyberbully มันเป็นปัญหาที่บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องแค่นี้เอง แต่จริงๆ แล้วมันส่งผลกระทบที่กว้างมาก สำหรับวัยรุ่น

วีรพร : เราคิดว่ามันก็รุนแรงกับวัยอื่นๆ ด้วยเหมือนกันนะ หมายถึงว่าการ Bully ทั่วๆ ไป ก็สามารถสร้างผลกระเทือนที่แรงกว่าที่คาดไว้ได้นะคะ 

 

The MATTER : พี่แหม่มคิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้

วีรพร : พี่เข้าใจว่าสังคมค่อนข้างจะเปราะบางแล้วก็อ่อนแอ คือไม่ได้เฉพาะน้องที่ป่วย แต่ว่าน้องที่ Bully เองก็ป่วย อ่อนแอ พ่อแม่เองก็อ่อนแอนะคะ 

วีรพร : เหมือนกับว่าเขาได้พื้นที่ตรงนี้ด้วย 

ปราชญา : ใช่ค่ะ 

 

อินเทอร์เน็ตและโลกของการเปรียบเทียบ ปัจจัยทำให้เกิด Cyberbully?

ปราชญา : ถ้าสมมติว่าเราที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ถ้าเรามั่นใจในตัวเอง เรามั่นใจรูปลักษณ์ของเรา สิ่งที่เขามากระทำกับเรา คนที่เขามา Cyberbully กับเรา เขาจะมีผลกับเราไหมคะ

วีรพร : ไม่มีค่ะ แต่ว่าทีนี้เห็นไหมคะ คำถามเท่ากับว่าเรามองภาพกว้างขึ้นไปอีก Marketing ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โฆษณา คือหมายถึงว่าจริงๆ แล้วทางรัฐเอง ทางผู้ใหญ่เอง ทางคนในสังคมเองก็ควรจะระแวะระวังเรื่องนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่โฆษณาเหยียดผิวอย่างนี้ คนนี้ดำจังเลย คนนี้ขาวสวยอะไรอย่างนี้ คือถ้าเราไม่ระวังตรงนี้ตั้งแต่ต้น เราปล่อยให้สินค้าเอง ซึ่งมีความถี่ในการพูด มีเงินใช้ในการพูด กระเพื่อมไปเรื่อยๆ อย่างนี้เราก็สร้างฐานให้กับการ Bully ยาลดความอ้วน ก็ทำให้คนอ้วนกลายเป็นสัตว์ประหลาด ยาผิวขาวซึ่งก็ไม่รู้ทำให้ขาวจริงหรือเปล่า

 

The MATTER : แล้วเราควรจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ยังไง หรือความจำเป็นที่ต้องป้องกันมันมีแค่ไหน

วีรพร : เมื่อมันมาถึงคำถามว่าเราต้องป้องกันตัวเองไหม เราควรจะเข้าใจว่าถ้าสมมติว่าใครสักคนเดินเข้ามาแล้วบอกว่า เธออ้วนจังเลย มันไม่ใช่ปัญหาของหนู เป็นปัญหาของคนที่พูดต่างหาก เพราะคนนี้ไม่เข้าใจว่าคนมีความหลากหลาย

เราจำเป็นต้องสอนคนรุ่นใหม่เหมือนกันว่า ความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ดีมีคนดำ ขาว น้ำตาล เหลือง ส้ม ใช่ไหมค่ะ มีคนอ้วน อ้วนมาก อ้วนน้อย ผอม ผอมเกิน ผอมพอดีๆ มันมีคนหลายๆ แบบ แล้วนี่ไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไรเลย เราอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลาย ในนี้เราพูดถึงในประเด็นที่น้อยๆ นะคะ ในประเด็นแบบรูปลักษณ์ภายนอกนะคะ แต่ว่าแน่นอนการ Bully มันเยอะกว่านั้น บางครั้งมันไม่ได้อยู่ในมิติแค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น

ปราชญา : สังคมของเรามันมีการแบบว่า มันถูกจัด Mindset มาให้คิดว่ามันต้องมีการเปรียบเทียบให้ต้องมีคนที่ดีกว่า ให้ต้องมีคนที่ด้อยกว่า ซึ่งถ้าสมมติว่าเราไม่รู้สึกอะไรกับคำพูดของคนเหล่านั้น เรารู้สึกว่าเราสามารถที่จะผ่านมันไปได้ หรือว่าเรารู้สึกว่าในเมื่อได้รับคำนี้มาแล้วเราจะไม่ไปตอบโต้กับคนอื่น หนูคิดว่าเราควรที่จะมีสกิลเหล่านั้น สกิลที่ทำให้เรามีภูมิต้านทานในจิตใจของตัวเองในการที่แบบว่ามีคนมากระทบกระทั่งจิตใจเรา แล้วเราสามารถที่จะก้าวผ่านมันไป เราสามารถที่จะไม่สนใจมันได้ แล้วเราจะไม่นำความรุนแรงนี้ส่งต่อให้กับคนอื่น 

 

The MATTER : ฟังดูแล้ว Cyberbully มันก็ทำงานอย่างเป็นวงจรเหมือนกัน มีการโยงกันไปมา

วีรพร : ทุกอย่างก็สืบทอดกันลงมา ก็โยงกันลงมาแบบนั้นทอดๆ เด็กก็อ่อนแอต่อการถูก Bully อ่อนแอพอที่จะ Bully คนอื่น เราไม่ได้สอนเด็กด้วยว่าการที่คุณไป Bully เขา คุณอ่อนแอนะ คุณเป็นเหยื่อนะ ไม่ใช่เขาผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อ คุณต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำของตัวเอง คุณต่างหากที่คิดว่าตัวเองมี Power เหนือคนอื่นด้วยการทำอะไรแบบนี้

ปราชญา : มันอาจจะเป็นเพราะว่าค่านิยมของสังคม เรามักจะมีการเปรียบเทียบว่าขาวดีกว่าดำ สิ่งนี้มันมาจากค่านิยมที่คนมักมอง แล้วเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางค่านิยมแบบนี้ค่ะ ทำให้เขาแบบใช้ค่านิยมนี้ในการนำไป Bully คนอื่น

 

เมื่อครอบครัวต้องเป็นที่พึ่งของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง

The MATTER : เมื่อเกิด Cyberbully ขึ้นมาแล้ว ทำไมเด็กหลายคนไม่กล้าบอกหรือขอความช่วยเหลือจากครอบครัว

ปราชญา : คือเรากลัวที่เราทำให้พ่อแม่ผิดหวัง หรือพ่อแม่บางคนที่กดดันเรามากๆ ค่ะจนเราไม่กล้าที่จะมีข้ออะไรที่ทำให้เขาติได้ เราไม่กล้าที่จะถูกว่า เราไม่กล้าที่จะบอกพ่อแม่ว่าเราถูกทำร้าย ถูก Bully มาอะไรอย่างนี้ค่ะ เรามักจะเก็บมันไว้ในใจมากกว่า

วีรพร : พี่พบว่าถึงบอกแล้ว พ่อแม่ของเราไม่เข้มแข็ง พ่อแม่ก็กลัวไปหมด ในส่วนของการที่ว่า ลูกกลัวว่าพ่อแม่จะผิดหวัง เพราะว่าพ่อแม่ผิดหวังง่ายไง ทำไมพ่อแม่ผิดหวังง่ายเพราะกูกลัวทุกอย่าง คือความจริงพ่อแม่ควรจะเข้าใจได้แล้วว่าการที่ลูกของเธอโดน Bully บ้างมันเป็นเรื่องธรรมดา การที่ลูกของเธอจะโดนครูใหญ่เรียกไปว่าบ้าง ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าถ้าตัดผมผิดระเบียบหน่อยก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย ไม่ได้ส่งผลต่อจักรวาลนี้เลย

 

The MATTER : หรือก็เริ่มจากมุมมองของเราเองก่อนก็ได้

ปราชญา : ถ้าเรามองจุดด้อยของคนอื่นให้เป็นความสามารถของเขา ให้เป็นสิ่งที่พิเศษของเขามันจะทำให้ปัญหาของการ Bully มันลดน้อยลง 

วีรพร : มันอาจจะไม่ได้ลดน้อยลง เพียงแต่ว่าทำให้เขามีภูมิต้านทานต่อสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แน่นอน เขามีบางสิ่งบางอย่าง คนเราจะมีบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นไม่มีเสมอ อย่างน้อยๆ สุดพี่พบว่าเพื่อนพี่ที่รูปลักษณ์แตกต่างเป็นเพื่อนที่ดีมาก เป็นเพื่อนที่เข้าใจคนอื่นมากนะ อาจจะเพราะโดน Bully มาก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะ

ปราชญา : มันอาจจะเป็นเพราะว่าการศึกษาไทยตอนนี้เราไม่ได้ให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วก็ตัวเองเป็นจริงๆ

วีรพร : ใช่

 

The MATTER : เป็นไปได้ไหมครับว่ายิ่งไม่ได้เป็นตัวเอง ภูมิคุ้มกันในความภูมิใจตัวเองมันก็ยิ่งน้อยลง

วีรพร : แล้วในขณะนั้น มันอาจจะไม่ใช่แค่นั้น มันรวมถึงว่าคนรอบตัวก็ไม่เห็นด้วยไง คนรอบตัวก็มองข้ามสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเป็นคุณ คนไม่สนใจว่าคุณนิสัยดี คนไม่สนใจว่าคุณร้องเพลงเพราะ คนสนใจว่าคุณได้ที่หนึ่งไหม คุณเป็นหมอไหม คุณเป็นไม่กี่อย่างที่เขาอยากได้ พ่อแม่คุณก็เลยพาลเป็นไปด้วย แล้วก็เกิดการ Bully สำหรับคนที่เป็นไปไม่ได้ 

เราควรจะมีโรงเรียนสำหรับพ่อแม่ คือพ่อแม่ควรจะเริ่มเข้าใจได้แล้วว่า หน้าที่ของเขาไม่ใช่การปั้นเด็กทารกหนึ่งคนในช่วงเวลา 20 ปีผ่านระบบการศึกษาและอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะเป็นบางสิ่งบางอย่าง แต่ว่า 20 ปีนั้น คือการแสวงหาความเป็นไปได้ที่คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไปได้ และมีชีวิตที่ดีได้นะ เราไม่ต้องพูดถึงชีวิตที่มีความสุขนะ แต่ดูเหมือนว่าเจตจำนงของพ่อแม่เองก็ผิดพลาด คือพ่อแม่มีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ฉันนะที่จะต้องทำให้ลูกของฉันเป็นคนดีออกมาอยู่ในสังคม เป็นคนมีความสามารถเป็นคุณประโยชน์คุณปกรต่อประเทศชาติ 

 

เข้าใจปัญหา Cyberbully และสร้างพื้นที่ระหว่างเด็กและครอบครัว

The MATTER : ย้อนกลับมาที่เรื่องครอบครัว เมื่อภาพปัญหามันใหญ่แบบนี้ ครอบครัวและโรงเรียนจะช่วยเหลือเด็กๆ ได้ยังไงบ้าง

ปราชญา : อย่างหนึ่งที่เด็กไม่กล้าไปปรึกษาพ่อแม่ เป็นเพราะว่าอย่างที่พี่แหม่มบอกว่าเขาซ้ำเติม สมมติว่าเราบอกเขาว่าเราโดนเพื่อนว่าเรียนไม่เก่ง พ่อแม่บอกแล้วทำไมถึงเรียนไม่เก่งหล่ะ ก็แกไม่ตั้งใจเรียนหนิ ทำไมแกถึงไม่ตั้งใจเรียน 

 

The MATTER : อะไรคืออันตรายของสภาพปัญหาแบบนี้ ที่จะส่งผลต่อเรื่อง Cyberbully

ปราชญา : มันเหมือนว่าพอเราพบเจอกับความเจ็บปวดแล้ว เราไม่รู้วิธีเคลียร์มัน แต่ว่าเรารู้แค่ว่าฉันต้องผลักมันออกไปจากฉัน คือผลักมันออกไปแล้วฉันจะต้องรู้สึกดีขึ้นอะไรประมาณนี้ค่ะ มันเลยทำให้ปัญหานี้มันแพร่ออกไปเรื่อยๆ 

วีรพร : เห็นไหมเรื่อง Bully เป็นเรื่องของคนอ่อนแอ เป็นเรื่องของความเปราะบางโดยแท้ คือถ้าผู้คนบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาฉัน ปัญหาเธอต่างหากที่มา Bully ฉัน อะไรอย่างนี้เรื่องมันก็จะแบบว่าหยุดอยู่แค่ตรงนั้นเลย แทนที่จะทำตัวเหนือด้วย บางทีก็แบบว่าโชว์เหนืออีก หรือไม่งั้นก็ผลิตซ้ำ ไปเรื่อยๆ เหมือนโรคระบาดอะไรอย่างนี้ น่ากลัวจัง 

 

The MATTER : เราจะออกจากวงจรนี้ยังไงครับ

ปราชญา : คือถ้าไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะหยุดพวกเขา เพื่อให้เขาเรียนรู้แล้วเข้าใจว่าเราไม่ควรที่จะเอาความเจ็บปวดนี้ไปสู่คนอื่น ญาคิดว่ามันจะสามารถที่จะหยุดวงจรนี้ได้ แต่ถ้าสมมติว่ามันยังเป็นคนเดิมๆ ที่คิดแบบเดิมๆ ก็จะยังอยู่เรื่อยๆ 

วีรพร : อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เรายังไม่เป็นชนชาติที่ไม่มีงานอดิเรกด้วย แล้วในขณะที่เด็กถูกสั่งให้เรียนเยอะมาก คือไปโรงเรียน 6 ชั่วโมงแล้วต่อวัน เสร็จแล้วต้องไปเรียนพิเศษอีกในตอนเย็น

หรือว่าจริงๆ คุณอาจจะเรียนดนตรี หรืออะไรเพิ่มขึ้นมา ที่พ่อแม่บังคับ คือเราควรจะมีงานอดิเรก เช่น ทำฟาร์มจิ้งหรีด เล่นปลากัด เล่นเครื่องสำอาง ปลูกต้นไม้ หรืออะไรอย่างนี้ เพื่อที่จริงๆ หมกมุ่นกับตัวเองด้วย
 

ปราชญา : สรุปแล้วมันก็คือเรื่องที่เด็กควรที่จะมีพื้นที่สร้างสรรค์ 

วีรพร : เรื่อง Bully โดยตัวของมันเองแล้ว ถ้าเกิดเราล้อไปแล้วมันไม่มีแรงกระเพื่อม มันก็หยุดล้อเองถูกไหม หรือว่าถ้าเกิดว่าล้อไปคนถูกล้อไม่ Suffer ไม่คร่ำครวญ ไม่รู้สึกแย่เห็นคาตา มันก็ไม่สนุกอีก ใช่ไหมคะ กลไกนี้ก็จะหายไปเอง

 

The MATTER : สุดท้ายแล้ว ทั้งสองคนคิดว่าครอบครัวจะเป็นความหวังให้เด็กออกจากวงจร Cyberbully ได้ไหม

วีรพร : ครอบครัวควรจะช่วยได้ เพียงแต่ว่ามันล้าหลังไง เราอยู่ในประเทศที่มีปัญหาทางความคิดพอประมาณหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะเดียวกัน พี่พบว่าเด็กรุ่นใหม่ หรือเด็กรุ่นน้องญาอย่างนี้ เขาโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต พี่หวังว่าเด็กเขาจะโตด้วยตัวเขาเอง เหมือนจริงๆ ทุกวันนี้ พี่ก็พบว่าเด็กฉลาดกว่าที่เขาคิดว่าเขาเป็น โลกนี้ต่างหากที่พยายามกดเด็กลง

แล้วถ้าเกิดไม่มีใครบอกคุณว่าคุณทำได้ พี่บอกคุณ คุณต้องยืนด้วยตัวคุณเอง มันไม่ได้สำคัญที่ผู้กระทำ แต่อยู่ที่ผู้ถูกกระทำมากกว่า คุณจะเยียวยากันเองได้ คุณจะเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กันได้ คุณจะเป็นปราการซึ่งกันและกันได้

ปราชญา : สำหรับญาคิดว่าครอบครัวเป็นเหมือนลำต้นค่ะ ลูกหลานก็คือเป็นเหมือนกิ่งก้านที่ออกมา ถ้าสมมติว่าลำต้นไม่สามารถที่จะดูดแร่ธาตุอาหารขึ้นมา มันก็อาจจะไม่ถึงกิ่ง

วีรพร : จริงๆ แล้วผู้ใหญ่เองก็ควรจะเข้ามาอยู่ในนี้ด้วยเหมือนกัน สมมติว่าน้องสร้าง Space ขึ้นมา พ่อแม่ก็ควรจะเข้ามาเหมือนกัน ใช่ไหมคะ แทนที่เราจะแยก Space อยู่ตลอดเวลา นี่คือ Space เด็ก นี่คือ Space ผู้ใหญ่ อะไรอย่างนี้ แล้วก็แน่นอนแหละ มันก็จะมีผู้ใหญ่บางพวกที่ไม่อยากจะเข้ามา เพราะว่าฉันเป็นผู้ใหญ่นะ อะไรอย่างนี้ ซึ่งล้าสมัยมาก มันไม่ช่วยให้คุณไปไหนได้เลย ไม่ช่วยให้คุณเข้าใจเด็กด้วย 

ความคิดเห็น

กลับ

เลขที่ 88 ถนนติวานนท์ 3 (แยก 16) ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

02 968 8019

02 968 9885

คุยกับ Gen AI